4 องค์ประกอบในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut.p@slingshot.co.th

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านหนังสือชื่อ Everyone Communicates, Few Connect ของ John C. Maxwell น่าสนใจดี ขอนำมาเล่าต่อให้ฟัง ผู้เขียนบอกว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะสื่อสารเพียงอย่างเดียว เเต่มีคนเพียงน้อยนิดที่เลือกจะเชื่อมต่อ (Connect) กับคนอื่นๆ ด้วย

จริงอยู่การสื่อสารช่วยให้เราเข้าใจและสร้างสัมพันธ์กันได้มากขึ้น แต่หากต้องการเห็นสัมพันธภาพที่ยืนยาว การสื่อสารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องสามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นให้ได้ด้วย เพราะเมื่อเชื่อมต่อกันได้แล้ว ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ และประสบการณ์ดี ๆ ที่มีให้กันก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

วิธีการที่จะเชื่อมต่อกับผู้อื่นให้ดีและมีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน

สิ่งที่เห็น
What people see

คนมองเราอย่างไร บุคลิกดูน่าเชื่อถือหรือไม่ ? มักตัดสินจากแว๊บแรกที่เห็น เพราะฉะนั้นจงเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเจอกันครั้งแรกด้วยแล้ว ยิ่งสำคัญมาก เสื้อผ้าหน้าผมรวมทั้งสีหน้าท่าทาง สัมผัสได้ก่อนที่จะมีการสนทนากันด้วยซ้ำ จงใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ แม้จะดูเหมือนไม่สำคัญเมื่อเทียบกับความจริงใจที่มีให้ต่อกัน แต่ความจริงใจอยู่ข้างในยังจับต้องไม่ได้จนกว่าอีกฝ่ายจะเปิดใจก่อน

สิ่งที่เข้าใจ
What people understand

ไม่ว่าความคิด ความเห็น หรือความตั้งใจจะดีเพียงใด ก็มักถูกจำกัดด้วยความสามารถในการสื่อสารของเราเอง ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนคงเคยเห็นคนที่เก่งมากแต่สื่อสารไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เขาคิดได้ ความคิดดี ๆ เหล่านั้นก็ตกไปอย่างน่าเสียดาย ความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกับสิ่งที่เราตั้งใจจะสื่อออกไป ฟังดูแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ยากมากสำหรับบางคน …​จะบอกให้ !

สิ่งที่รู้สึก
What people feel

คนอาจฟังในสิ่งที่เราพูด เเต่จะเชื่อในสิ่งที่เขาเห็น คำพูดเดียวกันเเต่วิธีการพูดต่างกัน ก็ให้ความรู้สึกที่ต่างกันด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มต้นจากความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันก่อน และความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กันก็เกิดจากการกระทำและคำพูดเป็นส่วนใหญ่ ไม่สำคัญเรารู้สึกอย่างไร แต่สำคัญว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไรกับคำพูดและการกระทำของเราต่างหาก

สิ่งที่ได้ยิน
What people hear

แน่นอนคำพูดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคำพูดมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อย่างมาก แต่สิ่งที่เราพูดออกไปกับสิ่งที่เขาได้ยิน อาจมีความหมายต่างกัน ตัวอย่างเช่น ถามว่า “จะเอายังไง” เราอาจหมายถึง “อยากให้เราทำอย่างไร”​ แต่เขาอาจได้ยินว่าเราพูดจาท้าทาย ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจจิตวิทยาเบื้องต้นก่อนว่า สิ่งที่เราตั้งใจ (Intention) กับสิ่งที่อีกฝ่ายรับไป (Perception) มักแตกต่างกันเสมอ และคนส่วนใหญ่ตัดสินเราสิ่งที่เขารับไป ไม่ใช่สิ่งที่เราตั้งใจ

ฟังดูแล้วอาจเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่คิดไปคิดมา ก็ยากเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าต้องทำอย่างสม่ำเสมอ…แต่ก็ลองดูครับ

….